หายจริงปวดเข่า
ปวดเข่าหายได้

สาเหตุ

อาการปวดเข่า




ความรุนแรงของอาการปวดเข่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บริเวณที่ปวด และสภาพทางกายภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยปวดเข่าจะมีอาการทั่วไปดังนี้
  • งอเข่าหรือยืดเข่าได้ลำบาก
  • ผิวหนังที่เข่าแดงหรือสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น
  • เกิดเสียงผิดปกติเมื่อขยับเข่า เช่น เสียงดังกึก เสียงลั่นในข้อ
บางครั้ง อาการปวดเข่าอาจเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง ดังนี้
  • เกิดอาการปวด ร่วมกับอาการบวม แดง และเป็นไข้
  • ไม่สามารถยืนได้ ล้มเมื่อพยายามยืน หรือเดินลำบาก
  • รู้สึกชาบริเวณขาข้างที่ผิดปกติ
  • เข่ามีรูปร่างผิดปกติ
สาเหตุของอาการปวดเข่า
โดยทั่วไปแล้วอาการปวดเข่าเกิดจากสาเหตุหลัก คือ การบาดเจ็บบริเวณเข่า การอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดเข่าอาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณใกล้เคียงแต่ส่งผลให้มีอาการปวดที่เข่าได้ เช่น เกิดจากกลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Pain Syndrome)
อาการบาดเจ็บขอองการปวดเข่า
อาการปวดเข่าอาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของส่วนประกอบต่าง ๆ บริเวณเข่า เช่น เอ็น เส้นเอ็น กระดูก กระดูกอ่อน หรือ ถุงของเหลวหล่อลื่นข้อต่อ (Bursa) โดยการบาดเจ็บที่มักพบมีดังนี้
  • ข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีก (Sprains and Strainsข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีกขาดเป็นการบาดเจ็บที่พบได้โดยทั่วไป ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อข้อต่อหรือกล้ามเนื้อถูกเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ลงน้ำหนักผิดจังหวะ หรือถูกกระแทก
    • ข้อเคล็ด คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากเอ็นข้อต่อซึ่งเป็นแผ่นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดระหว่างกระดูกสองชิ้นจนเกิดเป็นข้อต่อถูกบิดผิดรูปหรือฉีกขาดจากการรับแรงเกินข้อจำกัด
    • กล้ามเนื้อฉีก คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด จากการถูกยืดเกินขีดจำกัด หรือหดอย่างรวดเร็ว
  • ภาวะเลือดออกในข้อเข่า (Haemarthrosis) เกิดจากเส้นเอ็นภายในข้อเข่าฉีกขาด กระดูกเข่าหัก หรือการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในข้อเข่าแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ
  • เส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า (ACL Injury) บาดเจ็บ คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า ACL (Anterior Cruciate Ligament) ซึ่งเป็นเส้นเอ็นหนึ่งในสองเส้นที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกระดูกหน้าแข้งกับกระดูกต้นขาเกิดการฉีกขาด โดยส่วนมากมักเกิดกับนักกีฬาที่ต้องเปลี่ยนท่าหรือทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น นักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล นักเทนนิส อาการโดยทั่วไปคือ ได้ยินเสียงดังกึก เมื่อเส้นเอ็นฉีกขาด เข่ามีอาการบวม และรู้สึกเจ็บเมื่อต้องรับน้ำหนัก
  • โรคเอ็นสะบ้าอักเสบ (Patellar Tendinitis) โรคเอ็นสะบ้าอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของเอ็นที่ยึดกระดูกตั้งแต่บริเวณสะบ้าไปจนถึงบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งทำหน้าที่ควบคู่ไปกับกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า ทำให้สามารถงอหรือยืดเข่าได้ โดยมักเกิดในนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังกระโดดอยู่เสมอ เช่น นักบาสเก็ตบอล นักวอลเลย์บอล
  • การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสีในเข่า (Knee Bursitisการอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสีในเข่า เกิดจากถุงน้ำที่ทำหน้าที่ลดการเสียดสีและกันกระแทกระหว่างกระดูกและเอ็นบริเวณเข่าเกิดการอักเสบ ซึ่งมักเกิดในถุงน้ำเหนือกระดูกสะบ้า หรือถุงน้ำใต้ข้อต่อเข่า ส่งผลให้เจ็บที่เข่า และเคลื่อนไหวเข่าได้ลำบาก สาเหตุหลักมักเกิดจากการนั่งคุกเข่าบนพื้นผิวแข็งเป็นประจำ จึงทำให้ในบางครั้งอาการนี้ถูกเรียกว่า เข่าแม่บ้าน (Housemaid's Knee) ซึ่งเลียนมาจากลักษณะท่าทางการทำงานของแม่บ้านที่มักคุกเข่านั่นเอง
  • หมอนรองกระดูกฉีกขาด (Torn Meniscus) หมอนรองกระดูก คือกระดูกอ่อนที่มีรูปร่างคล้ายจาน ทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับน้ำหนักและกันกระแทกภายในข้อต่อ อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยในการกระจายน้ำไขข้อเพื่อลดการเสียดสีระหว่างกระดูก โดยเข่าแต่ละข้างจะประกอบด้วยหมอนรองกระดูกสองชิ้นอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง การฉีกขาดมักเกิดระหว่างลงน้ำหนักที่เข่าหรือหมุนเข่าผิดจังหวะ อาการทั่วไปของหมอนรองกระดูกฉีกขาด คือ รู้สึกเจ็บบริเวณเข่า เข่าบวม งอหรือยืดเข่าได้ลำบาก เคลื่อนไหวเข่าไม่ได้หรือเข่าล็อค
  • กระดูกหัก กระดูกเข่าหักอาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา ตกจากที่สูง หรืออาจเกิดขึ้นจากการล้มหรือก้าวพลาดซึ่งมีแนวโน้มเกิดในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
ปัญหาทางกลไกในร่างกาย
ในบางครั้งอาการปวดเข่าอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ หรือผลกระทบของโรคไขข้อ แต่เกิดขึ้นจากกลไกในร่างกาย ดังนี้
  • เศษกระดูกหลุดอยู่ในข้อเข่า (Loose Body) ความเสื่อมโทรมของกระดูกหรืออุบัติเหตุ อาจส่งผลให้กระดูกหรือกระดูกอ่อนบริเวณเข่าเกิดการแตกหัก และหลุดลอยอยู่ในช่องข้อเข่า โดยปกติเศษกระดูกจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หากไม่ไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ซึ่งถ้าเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ปวดเข่า และเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก
  • สะบ้าผิดตำแหน่ง (Dislocated Kneecap) สะบ้าผิดตำแหน่ง เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสะบ้า ซึ่งเป็นกระดูกครอบด้านหน้าเข่าทรงสามเหลี่ยม เกิดการเคลื่อนไปอยู่ผิดตำแหน่ง และอาจทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบเกิดการฉีกขาด โดยสะบ้าที่อยู่ผิดตำแหน่งส่วนมากมักสังเกตเห็นได้จากภายนอก ส่งผลให้ปวดเข่า เข่าบวม ไม่สามารถยืดเข่าและเดินได้
  • Iliotibial Band Syndrome: ITBS เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากเส้นใยเนื้อเยื่อ Iliotibial ซึ่งเป็นเส้นใยเนื้อเยื่อที่เชื่อมจากด้านนอกเอวไปจนถึงด้านนอกหัวเข่าหดรัดจนเสียดสีเข้ากับกระดูกบริเวณเข่าด้านข้าง ส่งผลให้เข่าเกิดอาการปวด โดยเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นกับนักวิ่งระยะไกล ทำให้กระดูกบริเวณเข่าเสียดสีกับเนื้อเยื่ออย่างต่อเนื่อง
  • อาการบาดเจ็บที่เอวหรือเท้า อาการบาดเจ็บที่เอวหรืออาการบาดเจ็บเท้า อาจทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนลักษณะการเดินเพื่อผ่อนแรงกดทับที่อวัยวะนั้นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดทับมากกว่าปกติ และเกิดอาการปวดขึ้นได้
โรคไขข้ออักเสบชนิดต่างๆ
โรคไขข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนมากอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ โดยโรคไขข้ออักเสบที่พบได้บ่อยมีดังนี้
  • โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โรคข้อเสื่อม คือหนึ่งในโรคของกลุ่มโรคไขข้ออักเสบที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกซึ่งเป็นส่วนของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อบริเวณ เข่า มือ เอว และกระดูกสันหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับข้อเข่า อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวเข่าหรือเมื่อใช้แรงกดลงไปบริเวณเข่า ขยับเข่าได้ลำบาก บางครั้งอาจคลำได้ก้อนแข็ง หรือที่เรียกว่าหินปูนเกาะกระดูก (Bone Spurs) บริเวณข้อเข่า โรคข้อเสื่อมมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนั้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน
  • โรคข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) โรคข้ออักเสบติดเชื้อ คือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือดซึ่งมาจากส่วนอื่นของร่างกาย หรือเกิดจากเชื้อโรคที่เข้ามาทางบาดแผลบริเวณข้อต่อโดยตรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อต่อส่วนต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักพบในข้อเข่าเป็นหลัก โดยการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อบวม แดง รู้สึกร้อน ผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ติดเชื้อได้ลำบากและอาจมีไข้
  • โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นการอักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นในข้อต่อข้างใดข้างหนึ่ง มักพบว่าข้อต่ออีกข้างเกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบคุ้มกัน เมื่อเม็ดเลือดขาวเลือกทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย (Autoimmune Disease) เยื่อบุผิวข้อต่อที่ถูกทำลายจะเกิดการอักเสบและมีลักษณะหนาขึ้น จนไปทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อต่อ อีกทั้งยังส่งผลให้เส้นเอ็นภายในข้อต่ออ่อนแอ ทำให้ข้อต่อผิดรูปร่าง อาการทั่วไป คือ รู้สึกเจ็บและร้อนที่ข้อต่อ ข้อต่อบวม มีอาการข้อติด โดยเฉพาะในช่วงเช้า รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ และน้ำหนักลดลง โดยในระยะแรก มักเกิดกับข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อต่อนิ้วมือ นิ้วเท้า และขยายไปยังข้อต่อส่วนอื่นในร่างกาย เช่น เข่า สะโพก เอว ไหล่ ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลไปถึงอวัยวะอื่นด้วย เช่น ตา ปอด หัวใจ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ออกมายืนยันถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองและส่งผลให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์ แต่พบว่าพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบของผู้ป่วยอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • โรคเกาท์ คือโรคไขข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตกรดยูริคในปริมาณที่มากเกินหรือไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ปกติ ทำให้กรดยูริคเกิดการสะสมกลายเป็นผลึกเล็ก ๆ ซึ่งส่วนมากจะเกิดภายในช่องข้อต่อ ส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ และรู้สึกเจ็บรุนแรงบริเวณข้อต่อ ข้อต่อแดงและบวม  เกิดขึ้นในข้อต่อเกือบทุกส่วนในร่างกาย และหลายจุดพร้อมกัน ส่วนใหญ่มักเกิดเกาท์ที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า เข่า
  • โรคเกาท์เทียม (Pseudogoutมีสาเหตุการเกิดคล้ายกับโรคเกาท์ แต่แตกต่างกันที่ชนิดของสารต้นกำเนิดผลึก โดยเกาท์เทียมเกิดจากสารแคลเซียมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ถูกสะสมและเกิดเป็นผลึกเล็ก ๆ ในช่องข้อต่อ ผลึก CPPD จะทำให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่เข่า อาการของโรคเกาท์เทียมโดยทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บบริเวณข้อต่อที่อักเสบ ข้อต่อบวม มีน้ำในข้อต่อ ข้อต่ออักเสบเรื้อรัง
ความผิดปกติอื่น
  • กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Pain Syndrome) คืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเข่าด้านหน้ารอบกระดูกสะบ้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มที่กระดูกสะบ้าเคลื่อน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังวิ่งหรือกระโดด ในบางครั้งจึงเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Runner’s Knee อาการทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านหน้าเข่า โดยอาการมักกำเริบเมื่อ ขึ้นหรือลงบันได นั่งคุกเข่าหรืองอเข่าเป็นระยะเวลานาน
เจ็บเข่ามีโอกาสเกิดได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเข่าได้ ดังนี้
  • การเล่นกีฬาบางชนิด การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องวิ่ง หรือกระโดดอยู่เสมอ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล อาจไปเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เล่นเกิดอาการเจ็บเข่า
  • น้ำหนักมากเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือมีโรคอ้วน มักเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกอักเสบ เนื่องจากแรงกดบนเข่าจากน้ำหนักตัวของร่ายกาย จากกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การขึ้นหรือลงบันได
  • กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรง หากกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงที่มากระทำ จะส่งผลให้ข้อต่อต้องรับแรงโดยตรงและเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ
  • อาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้น ผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณเข่ามาก่อน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บอีกครั้งมากกว่าคนที่ไม่เคยบาดเจ็บมาก่อน
การวินิจฉัยอาการปวดเข่า
เจ็บเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากรู้สึกเจ็บหรือพบความผิดปกติที่เข่า เช่น เข่าผิดรูปร่าง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยอาการเจ็บเข่า ดังนี้
  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ คือการสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น ระยะเวลาที่รู้สึกปวด อาการปวด นอกจากนั้นแพทย์จะสอบถามถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลถึงอาการปวดเข่า เช่น ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย แพทย์ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเข่าและคาดคะเนตำแหน่งของการบาดเจ็บจากการ หมุนเข่า ยืดเข่า และการใช้แรงกดลงไปบนเข่า ในบางครั้งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยลองเดิน ยืน หรือนั่งยอง ๆ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเข่า
  • เครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย แพทย์จะเลือกใช้การตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับอาการและผลตรวจร่างกายที่พบ ดังนี้
  • เอกซเรย์ (X-Ray) คือการใช้รังสีเอกซ์สร้างภาพ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) คือการใช้รังสีเอ็กซ์สร้างภาพ 3 มิติของเข่าที่มีอาการเจ็บ โดยภาพที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแสดงถึง เนื้อเยื่ออ่อน เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ที่มีความละเอียดมากกว่าการใช้วิธีเอกซเรย์
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasoundคือการใช้คลื่นเสียงเพื่อแสดงโครงสร้างของเนื้อเยื่ออ่อนภายในเข่า
  • การใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) คือการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเข่า สามารถแสดงรายละเอียดเนื้อเยื่ออ่อนได้ชัดเจนกว่าวิธีอื่น ซึ่งมักถูกนำมาใช้ตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูก
  • การส่องกล้องตรวจภายในข้อ (Arthroscopy) คือเทคนิคการผ่าตัดแบบหนึ่ง โดยแพทย์จะสร้างแผลเล็ก ๆ บริเวณเข่าและสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องเข้าไป เพื่อตรวจสอบภายในข้อเข่า
  • การเจาะระบายน้ำในข้อ (Joint Aspiration) คือการใช้กระบอกฉีดยาดูดของเหลวภายในเข่าออกมา เพื่อลดอาการบวม โดยแพทย์จะนำของเหลวมาตรวจสอบการอักเสบ หรือการติดเชื้อภายในเข่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น